How to do stamp concrete : คอนกรีตพิมพ์ลาย เค้าทำกันยังไง?
- BM
- Mar 14, 2020
- 1 min read

ยินดีต้อนรับสู่ BM Blog ครับ จุดประสงค์ในการทำ blog นี้ขึ้นมา ก็เพื่อเป็นอีกสื่อกลางที่จะช่วยตอบคำถาม เกี่ยวกับคอนกรีตพิมพ์ลาย ที่มักจะถูกถามอยู่บ่อยๆ หรือแม้กระทั่ง ทิปและเทคนิคต่างๆ ที่แอดมินคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับคนรักบ้าน หรือชอบในงาน Design มาแชร์กัน หวังว่าผู้อ่านที่เข้ามาอ่านหรือบังเอิญผ่านเข้ามา จะได้ความรู้และแรงบันดาลใจกลับไป ไม่มากก็น้อยนะครับ
สำหรับคำถามยอดฮิต อันดับต้นๆ ตั้งแต่เราทำงานคอนกรีตพิมพ์ลายกันมา ก็คือ ไอ้เจ้าคอนกรีตพิมพ์ลายเนี่ย เค้าทำกันยังไง? เป็นแผ่นเหรอ? หรือเหมือนกระเบื้อง? วันนี้เราจะมาเล่าขั้นตอนในการทำคอนกรีตพิมพ์ลายสไตล์ BM ให้ทราบกันครับ

ขั้นตอนที่ 1 : เลือกลายและสี
เลือกลายและสีที่ต้องการก่อนครับ! แฮ่ หลายคนอาจจะงง เอ๊ะ แล้วมันเกี่ยวอะไรนี่ เกี่ยวครับ การเลือกสีและลายจะมีผลต่อปูนเคลือบผิวหน้าและสีเคมีที่ใช้ รวมไปถึงสีเรซิ่นที่จะใช้เคลือบ เพื่อให้เนื้องานคอนกรีตพิมพ์ลาย ได้โทนสีและลายที่สวยงาม ตรงตามที่ลูกค้า(และทีมงาน)จินตนาการเอาไว้

ขั้นตอนที่ 2 การเตรียมพื้น
บริเวณพื้นที่จะทำจะต้องเคลียร์ข้าวของออกหมดให้สะอาดโล่งครับ คิดซะว่าเป็นการจัดระเบียบพื้นที่เราเอง ใครไม่สันทัดการ จัด เก็บ ทิ้ง แนะนำให้ลองหาหนังสือของ Marie Kondo หรือที่เรียกว่า Konmari เจ้าแม่แห่งการเก็บมาอ่านดูครับ 55 นอกเรื่องไปหน่อย กลับมาๆ
พื้นเดิมที่จะทำคอนกรีตพิมพ์ลายจะต้องปรับระดับให้เรียบ เสมอกัน ฟังดูยุ่งยากจัง? แต่จริงๆแล้วคือ หากพื้นเดิมของคุณไม่ได้มีการขุด การทรุดหรือแตก หัก ร้าวอย่างหนัก สามารถเทพื้นคอนกรีตพิมพ์ลายได้เลยครับ ทำไมถึงได้ล่ะ!? อ่าว ง่ายๆ ไม่ดีเหรอ? 55 คืออย่างนี้ครับ โดยปกติของการทำพื้นนั้น จะมีการถมดินและบดอัดหน้าดิน เพื่อให้ดินอยู่ตัว ก่อนการทำพื้น "ปกติ" อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นพื้นคอนกรีตธรรมดาทั่วไป พื้นกระเบื้อง พื้นปูอิฐตัวหนอนหรือกระทั่งพื้นหญ้าครับ ดังนั้นหากพื้นเดิมเรียบเสมอกันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นวัสดุใดก็สามารถเทพื้นคอนกรีตพิมพ์ลายทับได้เลยครับ
แต่ถ้าหากในกรณีที่เราไม่มั่นใจ ไม่แน่ใจ หรือต้องการให้ลงเสาเข็มเพิ่มเพื่อชะลอการทรุดตัวของพื้น ให้ทนทานนานปียิ่งขึ้น สามารถสอบถามกับทีมงานวัดหน้างานของเราได้เลยครับ ยินดีให้คำปรึกษา

ขั้นตอนที่ 3 การเทปูน
ก่อนการเทปูน ก็จะมีการวางเหล็กไวร์เมช (Wire Mesh) เพื่อเสริมแรงดึงครับ อธิบายง่ายๆคือ คอนกรีตนั้น ธรรมชาติของเค้าคือ สามารถรับแรงอัดได้ดี แต่ความสามารถในการรับแรงดึงต่ำ แข็งแต่เปราะนั่นเอง ดังนั้นจึงมีการนำเอาเหล็กเส้นผูกเป็นตาข่ายมาใส่ไว้ในเนื้อปูนเพื่อช่วยในการรับแรงดึง เป็นตัวช่วยให้เนื้อคอนกรีตไม่เปราะแตกได้ง่าย หลังจากที่วางเหล็กไวร์เมชแล้วก็จะเป็นการเทปูน เทจนเต็มพื้นที่ที่ต้องการ โดยทีมช่างก็จะคอยเกลี่ยปูนและเช็คระดับเป็นระยะจนเต็มพื้นที่ครับ
หลังจากที่เกลี่ยผิวหน้าปูนและรีดน้ำออกแล้ว ปล่อยให้ปูนเซ็ตตัวสักระยะ แล้วจึงทำการโรยผงสีคอนกรีตพิมพ์ลายครับ โรยแล้วใช้อุปกรณ์ปาด จนกระทั่งสีกระจายตัวสม่ำเสมอทั่วทั้งพื้นที่

ขั้นตอนที่ 4 การพิมพ์ลาย
หลังจากโรยผงสีแล้วปล่อยให้ปูนเซ็ตตัวอีกระดับหนึ่ง ถึงเวลาลงแขกแล้วครับ! ตรงนี้เป็นการทำงานเป็นทีมอย่างมาก โดยจะเริ่มจากการโรยผง Release Agent เพื่อให้สีคอนกรีตพิมพ์ลายออกมามีมิติมากยิ่งขึ้น หลังจากนั้น ทีมช่างจะช่วยกันนำแผ่นพิมพ์ลายมาเรียงแล้วไล่พิมพ์ไปตามแบบที่ได้รับบรีฟมา วาง กด วาง กด ไล่ไปจนเต็มพื้นที่ครับ

ขั้นตอนที่ 5 การเคลือบสี
จากนั้น ทีมช่างก็จะหนีกลับบ้านครับ! ฮาาาา แต่เป็นการหนีเพื่อปล่อยให้คอนกรีตที่พิมพ์ลายเสร็จแล้วเซ็ตตัวให้แห้งจนพอที่จะย่ำบนพื้นผิวได้ เมื่อได้ที่แล้ว ทีมช่างจะเริ่มทำการเคลือบผิวหน้าคอนกรีตด้วยน้ำยาเคลือบเงาผิวคอนกรีต ทับหน้าประมาณ 2 รอบ ให้เงางามและเพิ่มความเข้มสดให้สีปูนอีกด้วยครับ
หลังจากนั้นจะต้องปล่อยให้แห้งสนิท โดยไม่ถูกความชื้นประมาณอย่างน้อย 24 ชม. สำหรับทางเท้า และ 7 วัน สำหรับถนนครับ
#howtodostampconcrete #คอนกรีตสแตมป์ #คอนกรีตพิมพ์ลาย #bmstampconcrete #bmคอนกรีตพิมพ์ลายbyสถาปนิกทำเอง
Comentarios